เต็นท์ 2,000 mm. คืออะไร ? กันได้แค่ไหน อธิบายแบบย่อย ง่าย

เต็นท์กันน้ำ 2,000 mm. คืออะไร กันได้แค่ไหน อธิบายแบบย่อยง่าย

     หลายคนที่กำลังมองหาเต็นท์นอนกันน้ำ กันฝนดี ๆ สักหลัง แล้วมาหยุดสงสัยในรายละเอียดสินค้าที่บอกว่า เต็นท์หลังนี้กันน้ำได้สูงสุดถึง 2,000 mm. มันคืออะไร? ความหนาของผ้าเต็นท์หรือเปล่า? อืม.. หนามาก อบอุ่นถึงร้อนกันเลย หรือว่าสามารถเอาไปกางในน้ำลึกได้ถึงระดับ 2,000 มิลลิเมตร อุต๊ะ ! เทพสุด เดี๋ยววววววววว !!! จะบ้ารึไง ไม่ใช่ทั้งหมดนั่นแหละ

     โอ้… เห็นแล้วก็งงแทนนะครับ วันนี้เราเลยจะมาอธิบายกันว่า ระดับค่ากันน้ำบนบรรจุภัณฑ์ของเต็นท์ที่ว่า กันน้ำได้สูงสุด 1,000 mm. , 1,500 mm. , 2,000 mm. นั่นคืออะไร กันได้แค่ไหน เปรียบเทียบให้ฟังแบบเข้าใจง่าย

ที่บอกว่า เต็นท์กันน้ำ 2,000 mm. คืออะไร?

ปกติแล้วเต็นท์นอนจะมีการเคลือบสารกันน้ำที่พื้นผิวผ้าเต็นท์ เพื่อเสริมความแข็งแรงของผ้าเต็นท์จากสภาวะอากาศไม่ว่าจะเป็น แสงแดด ลมและน้ำฝน ซึ่งจะช่วยชะลอการเสื่อมของอายุการใช้งาน แต่ค่ากันน้ำที่ระบุอยู่นั้นไม่ได้หมายถึง ความหนาของเนื้อผ้าหรือสารที่เคลือบมาแต่อย่างใด จริง ๆ ค่าตัวเลขนี้คือ มาตรฐานการวัด Hydrostatic Head (HH) หรือที่เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ การทดสอบการรั่วซึมของน้ำในระดับแรงดันต่าง ๆ ที่ทำให้น้ำสามารถซึมผ่านเนื้อผ้าได้ โดยมีหน่วยวัดแรงดันน้ำเป็นมิลลิเมตร (mm.) นั่นเอง

วิธีทดสอบระดับค่ากันน้ำผ้าเต็นท์ทำอย่างไร?

ภาพที่ 1 เครื่องมือทดสอบระดับค่าการกันน้ำของผ้าเต็นท์

      จากภาพที่ 1 เป็นเครื่องมือสำหรับทดสอบ โดยด้านบนเป็นหลอดสำหรับแสดงค่าระดับแรงดันน้ำ ด้านล่างเป็นแท่นวงกลมสำหรับขึงผ้าเต็นท์ เมื่อปล่อยน้ำไปยังแท่นด้านล่างในระดับแรงดันที่ต่างกัน จากนั้น จึงมาสังเกตว่า แรงดันน้ำในระดับใด ที่ทำให้เริ่มสังเกตเห็นการรั่วซึมของหยดน้ำผ่านผ้าเต็นท์ขึ้นมาด้านบน ประมาณ 3 หยด ระดับค่าแรงดันน้ำที่มีหน่วยเป็นมิลลิเมตรดังกล่าวนั้น จะนำมาใช้เป็นค่าระบุการกันน้ำของเต็นท์นั่นเอง

เช่น…

เต็นท์กันน้ำได้ 1,500 mm.. หมายถึง ผ้าใบเต็นท์สามารถรองรับการกดทับของน้ำฝนได้ในระดับ 1,500 มิลลิเมตร ก่อนที่น้ำจะซึมผ่านผ้าเต็นท์เข้ามา

     อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าทุกคนก็ยังนึกภาพไม่ออกว่า แล้วมันกันน้ำได้ในระดับไหน? ที่บอกว่ารองรับน้ำได้เท่านี้มันหนักเท่าไหร่กันแน่? โดยการวัดนั้นเขาสามารถนำไปแปลงเป็นหน่วยปอนด์ต่อตารางนิ้วได้ เช่น 1,500 mm. เท่ากับ 2.18 ปอนด์ ก็แสดงว่า เต็นท์ที่กันน้ำได้ในระดับ 1,500 mm. สามารถรองรับน้ำหนักการกดทับของน้ำได้สูงสุดถึง 2 ปอนด์ หรือประมาณ 1 กิโลกรัม

พูดเป็นตัวเลขก็ดูเข้าใจยากเกินไป เรามายกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายกันเลยว่า สรุปแล้ว เต็นท์กันน้ำระดับไหนที่เราต้องการ?

เต็นท์กันน้ำ แบบไหนที่เราต้องการ?

ต้องการระดับไหนนั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้งาน เช่น …..

  • เต็นท์ใช้ไปกางเที่ยวช่วงหน้าร้อน ระดับกันน้ำที่ 1,000 mm. หรือน้อยกว่านั้นก็เอาอยู่แล้ว จะให้ความรู้สึกถึงความโปร่งสบาย ระบายอากาศร้อนได้ดี ตัวอย่างเต็นท์ Thai Adventure เช่น รุ่น FRT 216-2  Monodome มีสารเคลือบกันน้ำอยู่ที่ 450 mm. ซึ่งเทียบได้กับระดับการกันน้ำของผ้าที่ใช้ทำร่ม ใช้กางในช่วงหน้าร้อนที่ไม่มีฝนตกหนักยังไงก็เอาอยู่อยู่แล้ว
  • เต็นท์ใช้ไปกางในพื้นที่ที่ค่อนข้างมีลม ฝนตกปรอย ๆ น้ำค้างไม่แรงมาก  เช่น ช่วงปลายฝนต้นหนาว ระดับกันน้ำที่ 1,000 – 1,500 mm. ก็เอาอยู่ ตัวอย่างเต็นท์ Thai Adventure เช่น รุ่น FRT 229 มีการเคลือบกันน้ำอยู่ที่ 1,500 mm. ก็ใช้กันน้ำค้าง น้ำฝนปรอย ๆ ได้หายห่วง
  • แต่สำหรับใครที่คิดว่าจะใช้แบบเฮฟวี่สุด ๆ อากาศแปรปรวน ลมแรง มีเม็ดฝนด้วย แนะนำให้ เต็นท์ระดับกันน้ำตั้งแต่ 2,000 ขึ้นไปเลยครับ เนื้อผ้าก็อาจจะมีน้ำหนักมากขึ้นตามมานะ แต่ความทนทานเหมาะสมที่จะใช้ในสภาพอากาศแบบนี้มากกว่าครับ ตัวอย่างเต็นท์ Thai Adventure เช่น รุ่น  ที่ตัวเต็นท์ด้านในเนื้อผ้าเคลือบกันน้ำสูงสุดถึง 2,000 มม. เสริมด้วยฟลายชีทคลุมตัวเต็นท์ด้านนอกที่มีสารเคลือบกันน้ำสูงสุด 3,000 มม.  ซึ่งเจ้าตัวฟลายชีทที่คลุมด้านนอกก็จะช่วยปกป้องตัวเต็นท์จากน้ำฝน น้ำค้างได้ดีอีกชั้นหนึ่งเลยครับ สามารถกางได้ในที่มีสภาพอากาศลมแรงได้หายห่วง

      แต่ ๆ ๆ เดี๋ยวก่อน นอกจากจะดูที่ค่าการกันน้ำของเต็นท์แล้ว ส่วนสำคัญอีกอย่างก็คือ ตะเข็บของเต็นท์ด้วยนะ บางทีเราจะสังเกตว่า ผ้าเต็นท์ก็ไม่ซึมนะ แต่น้ำมาจากไหน? ปัญหาสำคัญมาจากการเย็บตะเข็บเต็นท์ที่ไม่ดี อาจทำให้น้ำซึมผ่านรอยตะเข็บเข้ามาได้ ฉะนั้น เพื่อน ๆ ควรเลือกเต็นท์ที่มีการซีลรอยต่อตะเข็บตลอดแนว จะช่วยป้องกันน้ำซึมเข้าได้อีกทางนะครับผม

     อ่าาาาา…กระจ่างแจ้งแก่ใจ หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้เพื่อน ๆ เข้าใจได้ง่ายขึ้น [รึเปล่า ?  5555 ] ขอบคุณที่รับชมกันนะครับผม วันหลังมีสาระอะไรดี ๆ จะมาเล่าสู่กันฟังอีกนะครับ ขอบคุณคร้าบบบ

แหล่งข้อมูล : www.msrgear.com 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *